เรื่องน่ายินดีสำหรับช่วงเวลานี้ติดๆกันของคนญี่ปุ่นก็คือการได้รับการขึ้นทะเบียนสถานที่ต่างๆให้เป็นมรดกโลก
ถึงวันนี้ก็มี 18แห่งแล้ว (21 มิถุนายน 2557) ก็มีเขียนไว้บ้างที่นี่ มรดกโลกประเทศญี่ปุ่น
การแยกประเภทของมรดกโลกนั้น แบ่งออกได้ 3 ประเภท
*1 มรดกโลกทางวัฒนธรรม ประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 14 สถานที่
*2 มรดกโลกทางธรรมชาติ ประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 4 สถานที่
*3 มรดกโลกที่รวมทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ สำหรับประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีบันทึก
ที่นี้การเป็นมรดกโลกนั้นก็เกิดทั้งผลดีและผลกระทบต่างๆ แน่นอนว่าใครๆก็อยากไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ได้ชื่อว่า “มรดกโลก” ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจไปถึงระดับหมู่บ้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ของมรดกโลกแห่งปี 2013 ที่ได้รับการบันทึกไปพร้อมๆกับ Mt.Fuji คือ Miho no Matsu Bara (三保の松原) ได้รับผลกระทบหลังจากเป็นมรดกโลกแห่งที่ 17 ของประเทศญี่ปุ่น
ภาพความสวยงามของทะเลและฟูจิซัง (หรือภูเขาฟูจิ) งดงามจนเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม
และอีกจุดนึงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักคือ 神の道 หรือแปลง่ายๆว่า “ทางเดินของพระเจ้า” ทิวสนที่ปลูกเรียงรายทอดยาวไป เป็นวิวที่สวยงามและบรรยากาศดีมาก
รูปจาก mr.slim の PHOTO BLOG
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้นสนเหล่านี้เริ่มแห้งเหี่ยว ปลายของต้นไม้เริ่มเป็นสีเหลือง หลังจากที่ได้รับการวิจัยโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญศึกษาทางด้านนี้พบกว่า มันเกิดขึ้นจากแรงอัดจากพื้นผิวถนนทำให้ต้นไม้โดนแรงอัดไปถึงรากด้านใต้
เส้นทางที่รถบัสนำเที่ยวใช้รับส่งผู้โดยสารนั้นต้องผ่านถนนเส้นนี้ วิ่งไปมาวันละหลายคันทำให้ต้นไม้เหล่านี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ทางจังหวัดชิซึโอกะจึงแก้ไขด้วยการสร้างที่จอดรถใหม่ให้กับรถบัสนำเที่ยวเพื่อที่จะไม่ต้องผ่านถนนเส้นนี้อีก
แล้วให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าชมธรรมชาติผ่านทิวสนไปจนถึงทะเลและชมภ.ฟูจิ
แต่ดูเหมือนจะไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะรถบัสนำเที่ยวหลังจากส่งคนลงแล้วก็ยังขับรถกลับเส้นทางเดิมเพื่อไปรับนักท่องเที่ยวกลับขึ้นรถ ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
หลังจากได้พูดคุยทั้งจากคนขับรถและบริษัททัวร์นำเที่ยวก็ได้ความว่า ในตารางนำเที่ยวหรือโปรแกรมทัวร์นั้นให้เวลาสำหรับสถานที่นี้เพียง 45นาทีแล้วต้องเดินทางต่อไปยังจุดหมายต่อไป การเดินตั้งแต่ที่จอดรถใหม่จนถึงปลายทางใช้เวลาไปกลับ 20 นาทีแล้วทำให้เวลาไม่เพียงพอสำหรับการชมวิวที่นี่ ทำให้รถบัสนำเที่ยวยังต้องรับส่งนักท่องเที่ยวด้วยเส้นทางเดิม
นี่หละปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในนาม “มรดกโลก”
ภ.ฟูจิ ก็มีนักท่องเที่ยวไปเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปีนเขาในช่วงฤดูร้อนปีละครั้ง ทำให้ต้องมีการเก็บค่าบริการปีนเขาตั้งแต่ปีที่กลายเป็นมรดกโลก เพื่อนำไปใช้บำรุงและดูแลสถานที่ธรรมชาติไม่ให้เสียหายมาก
เป็นเรื่องของความร่วมมือของทุกคนและทุกฝ่ายค่ะ ฝ่ายบริษัททัวร์ก็ได้แต่บอกว่า คงต้องตัดสถานที่นี่ออกจากโปรแกรมไปเพราะนักท่องเที่ยวนอกจากจะไม่เดินแล้ว ยังทำให้เสียเวลาที่จะไปสถานที่ต่อไปอีก
ก็ … คงต้องหาข้อสรุปที่เกิดผล win/win ทั้งสองฝ่ายนะคะ